การถ่ายภาพมรดกสถาปัตยกรรมไทยในกรุงเทพมหานคร รวบรวม เรียบเรียงจากประสบการณ์การถ่ายภาพสถาปัตยกรรม ๑๐ ปี จุดประสงค์เพื่อบันทึกความงามที่มีเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทย และบอกเล่าวิธีการถ่ายรูปเหล่านี้ รวม ๑๑๙ รูป จาก ๑๕ วัด ๒ พระราชวัง ๑ พิพิธภัณฑ์ และ ๑ พระราชพิธีที่สำคัญ 
สถาปัตยกรรมไทยมีลักษณะเฉพาะตั้งแต่การวางผัง รูปแบบอาคาร โครงสร้าง การใช้งาน งานศิลปะที่ใช้ตกแต่ง กรุงเทพมหานครเป็นที่รวมมรดกสถาปัตยกรรมประเภท วัด วัง ที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีการดูแลรักษาอย่างดี เหมาะที่จะถ่ายภาพไม่ว่าจะถ่ายเป็นงานอดิเรก ท่องเที่ยว หรือถ่ายแบบจริงจัง
บทความนี้รวบรวม เรียบเรียงขึ้นมาเพื่อแนะนำหลักในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมไทย เพราะเนื้อหาแบบนี้มีแต่ชาวต่างชาติเขียน บทความที่เป็นภาษาไทยมักจะแปลมา รูปประกอบก็เป็นอาคารในต่างประเทศ เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป สถาปัตยกรรมร่วมสมัย ไม่มีเนื้อหาเฉพาะเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทย เนื้อหาก็วนไปมา เดิมๆ บางเรื่องเป็นวิธีการตั้งแต่สมัยกล้อง analog ซึ่งไม่จำเป็นสำหรับยุคที่ทุกขั้นตอนการทำงานเป็น digital ทั้งหมดอย่างปัจจุบัน
พระศรีรัตนเจดีย์ พระมณฑป และปราสาท พระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  (วัดพระแก้ว)
Temple & Palace วัด และพระราชวัง
สถาปัตยกรรมไทยในวัดทางพุทธศาสนา พระราชวัง และพระบรมมหาราชวัง มีเอกลักษณ์ ถ่ายทอดรูปแบบมายาวนานก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ หรือมากกว่า ๒๔๐ ปี เป็นสถานที่ที่รวมงานศิลปะไทยอันปราณีตหลายแขนง
พระศรีรัตนเจดีย์ พระมณฑป และปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
วัดมีรูปแบบที่ต่างออกไปบ้างตามยุคสมัย แต่ทุกสมัยจะมีองค์ประกอบหลัก คือ พระอุโบสถ (โบสถ์) และพระวิหาร เพื่อใช้ทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญ มีพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
พระอุโบสถ พระเจดีย์ และพระวิหารวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร | พระอุโบสถ และต้นศรีมหาโพธิ์ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร | พระอุโบสถ พระเจดีย์ พระระเบียงคต และพระวิหารทิศ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
พื้นที่ว่างรอบพระอุโบสถหรือพระวิหารสำหรับใช้ทำศาสนกิจต่างๆ กำหนดขอบเขตโดยรอบด้วยพระระเบียงคต
พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
พระระเบียงคต มีลักษณะเป็นผนังทึบหนึ่งด้าน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป อีกด้านเปิดโล่งเห็นแนวเสา 
พระระเบียงคต วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร | วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร | วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
ตัวอย่างสถาปัตยกรรมประเภทพระที่นั่ง พระที่นั่งโถง และบุษบก มีลักษณะและขนาดต่างกันออกไปตามการใช้งาน
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท พระบรมมหาราชวัง | พระบุษบก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
Ornaments in Thai Architecture ส่วนตกแต่งในสถาปัตยกรรมไทย
พระนารายณ์ทรงครุฑ และพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ตามคติความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่สถิตของพระอินทร์เทวดาองค์สำคัญในศาสนาพราหมณ์
พระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
๑ พระนารายณ์ทรงครุฑ พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ๒ พระอินทร์ทรงพระขรรค์ พระอุโบสถ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ๓ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ๔ พระนารายณ์ทรงครุฑ พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ๕ จันทรเทพบุตรบ พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ๖ พระนารายณ์ทรงครุฑ พระวิหารทิศ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร* ๗ พระนารายณ์ทรงครุฑ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ๘ พระอินทร์ทรงพระขรรค์ พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท พระบรมมหาราชวัง
ตราแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๕ และตราราชวงศ์จักรี พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
๑ ครุฑยุดนาค ๑๑๒ รูป ฐานปัทม์ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ๒ มารแบก ฐานพระมณฑปรอบพระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ๓ ยักษ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ๔ ยักษ์ทวารบาล วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ๕ ราชสีห์ (สิงห์) หินอ่อนแกะสลัก พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ๖ ราชสีห์ (สิงห์) พระวิหารสมเด็จ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ๗ ช้าง พระวิหารทิศ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร* ๘ เทพนม และครุฑพนม พระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

เซี่ยวกาง ทวารบาล จิตรกรรมแบบจีน ประตูพระวิหารทิศ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร*
๑ เครื่องลำยองไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ๒ ชายคาไม้แกะสลัก ลงรักปิดทองประดับกระจกสี พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร  ๓ ซุ้มประตูไม้แกะสลัก ลงรักปิดทองประดับกระจกสี พระอุโบสถ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ๔ บานประตูประดับมุก ลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ๕ กระเบื้องเคลือบ พระเจดีย์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ๖ บานหน้าต่าง ลวดลายลงรักปิดทองรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ๗ ซุ้มประตูปูนปั้น วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ๘ จิตรกรรมฝาผนังหลังพระประธาน เรื่องไตรภูมิ พระอุโบสถ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
Light & Thai Architecture แสง และสถาปัตยกรรมไทย
แสงมีความสำคัญต่อการถ่ายภาพทุกประเภท ทำให้เห็นรายละเอียดชัดเจน สีสดใส สมจริง เรามักจะถ่ายตามทิศทางของแสง ด้วยขนาดที่ใหญ่มากการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมจำเป็นต้องอาศัยแสงจากธรรมชาติเป็นหลัก การเลือกช่วงเวลา ทิศทาง และฤดูกาลจึงเป็นเรื่องสำคัญ ตำแหน่งพระอาทิตย์ในประเทศไทยตอนกลางวันค่อนข้างจะอยู่ตั้งฉากกับพื้นโลก จึงไม่นิยมช่วงกลางวัน มักถ่ายในช่วงเช้าและเย็นที่แสงอ่อนลง มีเงาทอดยาวลงบนอาคาร
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
สถาปัตยกรรมไทยประเภท วัด และวัง มักหันหน้าอาคารทางทิศตะวันออก เหมาะที่จะถ่ายในช่วงเช้าเพราะมีแสงส่องเข้าที่ด้านหน้าพระอุโบสถ และวัดพระแก้วจะเปิดให้คนไทยเข้าได้ตั้งแต่ ๗.๓๐ น ก่อนที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม เป็นโอกาสที่ดีที่จะเก็บภาพที่ไม่มีคนรบกวนแบบนี้
พรอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

ในฤดูร้อนช่วงเช้าและเย็น พระอาทิตย์จะโคจรค่อนมาทางทิศเหนือ ทำให้มีแสงเข้าด้านหน้าอาคารที่หันด้านทิศเหนือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง  เป็นตัวอย่างหนึ่ง ส่วนอาคารที่หันทางทิศใต้ต้องรอช่วงฤดูหนาวที่การโคจรของพระอาทิตย์จะค่อนมาทางทิศใต้มากขึ้น
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
สถาปัตยกรรมไทยขนาดใหญ่มักจะมีแนวเสารอบอาคาร ทำให้ผนังที่อยู่ถัดเข้ามาเกิดเงาที่มีลักษณะเฉพาะ เปลี่ยนไปตลอดวัน และตลอดทั้งปี
พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และพระอุโบสถ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร
ช่วงฤดูร้อนถึงฤดูฝนของกรุงเทพฯ บางวันท้องฟ้าตอนพระอาทิตย์ตกจะมีสีสรรสวยงาม และถ้าอาคารเปิดไฟส่องอาคารทันเวลาพอดี จะได้ภาพแบบนี้โดยไม่ต้องซ้อนภาพท้องฟ้าด้วย Photoshop เลย
พรอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง
ตัวอย่างภาพเวลากลางวันที่จะเห็นส่วนประกอบ สี วัสดุต่างๆ ชัดเจน เปรียบเทียบกับช่วงค่ำถ้าอาคารมีไฟแสงสว่างทั้งแสงจากการใช้งานภายในอาคาร และแสงส่องอาคารเพื่อการตกแต่ง ช่วงเวลาหลังพระอาทิตย์ตกจะมีเวลาประมาณ ๑๕-๓๐ นาที (ขึ้นกับว่าอยู่ช่วงเดือนไหน) ก่อนที่ฟ้าจะมืด จะเป็นช่วงเวลาที่ถ่ายสถาปัตยกรรมทุกชนิด ให้สีสรรสวยงาม ตัดกับท้องฟ้าเป็นสีฟ้าไปจนถึงสีน้ำเงินเข้ม และมีข้อดีคือทำให้เห็นข้อบกพร่องต่างๆ น้อยลงด้วย
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
เวลาก่อนพระอาทิตย์ตก ในบางวันก็เป็นช่วงเวลาที่ดี บางคนเรียกว่า golden hours การถ่ายภาพตามแสง จะได้แสงสีส้มอ่อนๆ ทาบลงบนอาคาร 
เหมาะกับสถาปัตยกรรมไทยที่มีวัสดุสีทองเป็นส่วนประกอบ ภาพดูสดใสแวววาว ถ้าโชคดีไฟอาคารเปิดเร็ว ท้องฟ้ายังไม่มืดจะยิ่งดูสวยขึ้นอีก
โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร
เปรียบเทียบกับภาพตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงช่วงค่ำ ยากที่จะดูจากหลังกล้องว่าช่วงไหนที่แสงบนอาคาร แสงไฟ และแสงของสภาพแวดล้อมจะดูดีที่สุด วิธีการก็คือถ่ายมาเยอะๆ ก่อน แล้วค่อยมาเลือกทีหลังใน LightRoom
โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร
การถ่ายพระอาทิตย์ตกโดยมีอาคารเป็น foreground ถ้าวัดแสงให้พอดีที่บริเวณท้องฟ้า อาคารมักจะเห็นเป็นเงามืด (silhouette) ทำให้เห็นรูปทรงของอาคารชัดเจน เห็นท้องฟ้าและเมฆมีสีแปลกตา มี รูปร่างหลากหลายไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง | พระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร | พระวิหารยอด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
การถ่ายภาพช่วงเช้าตรู่ คล้ายกับการถ่ายช่วงค่ำเพียงแต่ขั้นตอนการเตรียมการจะย้อนกลับทั้งหมดจากเวลามืดไปจนสว่าง เดาไม่ได้ว่าจะได้แสงสวยๆ หรือไม่ ไม่เหมือนช่วงเย็นที่เราดูท้องฟ้า สังเกตเมฆและสภาพอากาศก็พอจะเดาได้ว่าพอถึงช่วงพระอาทิตย์ตก และค่ำ สภาพแสงจะเป็นอย่างไร
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร*
Camera & Lens กล้องและเลนส์ 
การถ่ายภาพที่มีช่วงแสงต่างกันมากๆ ทำนองนี้ ถ้าเป็นกล้อง digital รุ่นแรกๆ ต้องอาศัยการถ่ายหลายๆ ภาพ ค่าแสงต่างๆ กันแล้วนำมาซ้อนกันเพื่อทำ HDR แต่ปัจจุบันตัดขั้นตอนนั้นไปได้เลย เพราะกล้องรุ่นใหม่มี sensor รับภาพดีขึ้นมาก การเลือกใช้กล้องจึงควรเลือกรุ่นใหม่ ให้ dynamic range ของภาพที่ดี ในขณะที่ระบบ auto focus ที่รวดเร็ว bufferที่สูง สามารถถ่ายต่อเนื่องได้หลายภาพ หรือระบบ face detetion ที่แม่นยำไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการถ่ายภาพประเภทนี้
พระบรมมหาราชวัง
การเลือกช่วง และชนิดของเลนส์ให้เมาะสมกับสถานที่ ขนาดอาคาร และระยะถอย การใช้เลนส์กว้างเกินไปถึงจะเก็บอาคารได้ครบ แต่อาจทำให้ภาพบิดเบี้ยว เกิด distortion และสัดส่วนของอาคารผิดไป
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
จากมุมเดียวกัน ช่วงเลนส์ต่างกันจะให้ความรู้สึกของภาพ เล่าเรื่องราวต่างกัน ตอนถ่ายถ้ามีเวลา ควรถ่ายมาหลายๆ ช่วงเพื่อเลือกใช้ทีหลัง จากรูป ใช้เลนส์ ๔๕ ๒๔ และ ๑๙ มม. ตามลำดับ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Index)
พระพุทธอังคีรส พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร*
จุดสนใจในภาพอย่างพระประธานที่มีขนาดใหญ่มากๆ ลองใช้เลนส์ต่างช่วง เพื่อให้เก็บภาพหลายๆ แบบ ถ่ายมุมกว้างเห็นบรรยากาศโดยรวม และใช้เลนส์ telephoto ถ่าย crop เห็นรายละเอียดเป็นส่วนๆ ที่มองไม่ชัดด้วยตาเปล่า
พระศรีศากยมุนี พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
หลักการเลือกใช้เลนส์แบบง่ายคือ “สถานที่แคบใช้เลนส์กว้าง ที่กว้างใช้เลนส์แคบ” การถ่าย cityscape ทำนองนี้ ภาพจากเลนส์ telephoto ทำให้จุดสนใจ และ background ดูใกล้เข้ามามากขึ้น
ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และ โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร
เลนส์ Tilt & Shift จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม? 
สมัยกล้อง film เลนส์ Tilt & Shift มีความจำเป็นเพราะการมาปรับแก้ perspective ทีหลังยากมาก ต้องถ่ายให้สมบูรณ์และมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด การปรับแก้ต้องเอา film ไป scan เพื่อเอามาปรับแต่งในคอมพิวเตอร์ แล้วเอาไปบันทึกลง film อีกทีเพื่อการใช้งาน พอเป็นกล้อง digital ภาพที่ถ่ายจากเลนส์ทุกช่วงสามารถปรับแก้ perspective ได้ใน LightRoom เลนส์ Tilt & Shift จึงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม เรียกว่าถ่ายให้คมชัด วัดแสงให้ค่อนข้างพอดีก็พอ
๓ รูปนี้ถ่ายด้วยเลนส์ Tilt & Shift เพียง ๒ รูปเท่านั้น แยกไม่ออกเลยว่ารูปไหนบ้าง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่อง Post Production และ Index)
พระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาส | พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พระบรมมหาราชวัง | วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
ประโยชน์ของเลนส์ Tilt & Shift อีกอย่างคือการ shift ในทิศทางต่างๆ เพื่อถ่ายหลายๆ ภาพแล้วเอามาต่อกันเป็นภาพ panorama ใช้ในที่ที่มีระยะถอยจำกัด แม้ว่าจะใกล้เคียงกัยการใช้เลนส์ wide มากๆ แต่ถ้าพิจารณาอย่างละเอียดภาพ panorama จะให้สัดส่วนอาคารสมจริง มี distortion น้อยกว่า (รูปนี้ตั้งกล้องสูงจากระดับพื้นประมาณ ๑ เมตร ถ่าย ๒ รูปต่อกันตามนอน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่อง Post Production)
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  พระบรมมหาราชวัง
การที่จะซื้อเลนส์ที่พูดถึงทั้งหมดในบทความนี้ ต้องใช้ทุนมากพอควรเลยทีเดียว สำหรับผู้เริ่มต้นขอแนะนำเลนส์ ๕๐ มม. ราคาถูก คมชัด เล็ก เบา ๓ รูปนี้ และอีกหลายๆรูปในบทความถ่ายด้วยเลนส์ช่วง ๕๐ มม. (ดูรายละเอียดใน Index)
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง |ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร | พระพุทธสิหิงคปฏิมากร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

Setting การตั้งค่าต่างๆ 
เลือก format ภาพเป็น RAW เท่านั้น เพราะจะช่วยให้ปรับแต่งได้เยอะขึ้นกว่า JPG ส่วนค่าความไวแสง (ISO) ตั้งที่ช่วง ๑๐๐ ถึง ๒๐๐ ไม่ควรตั้งให้สูงกว่านี้ เพราะถึงจะเป็นกล้องรุ่นที่ดีที่สุดในปัจจุบันที่มี Noise น้อยลงมากแต่ค่า dynamic range ก็ยังไม่ดี วิธีการก็คือต้องใช้ ISO ที่ต่ำ และใช้ขาตั้งกล้องเสมอ
ปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว)
การตั้งค่ารูรับแสงเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมระยะชัดลึก ปกติจะตั้งที่ ๙ ถึง ๑๑ แต่ถ้าจำเป็นอย่างในกรณีนี้ที่ใช้ขาตั้งกล้องไม่ได้ ให้ใช้ speed ที่พอถือถ่ายได้ (ภ้ามีระบบกันสั่นที่เลนส์ก็ยิ่งช่วยให้ตั้ง speed ได้ต่ำลงอีก) ค่า f ที่ ๒.๘ ก็ชัดพอควร เทคนิคคือเล็งโฟกัสไปที่จุดสนใจ ในที่นี้คือบริเวณตาของพระพุทธรูป ส่วนอื่นที่อยู่ระนาบหน้าหรือหลัง จะเบลอนิดหน่อยก็พอยอมรับได้
พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระอุโบสถ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
การตั้ง speed ก็จะตั้งตามสภาพแสง ถ้าต้องการให้น้ำในแม่น้ำ เมฆ หรือไฟรถเคลื่อนไหวเป็นเส้นก็ตั้ง speed ให้ต่ำลงมากๆ
พระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร | เสาชิงช้า และวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
ปกติวัดในศาสนาพุทธ หรือพิพิธภัณฑ์ มักเปิดให้เข้าเฉพาะในช่วงกลางวันซึ่งแสงภายนอกจะสว่างมาก และมี white balance ค่อนไปทางสีขาว
และฟ้า ต่างกับภายในที่ค่อนข้างมืด และมีสีออกส้มจากไฟแบบหลอดไส้ ปกติเราไม่สามารถจัดไฟ หรือใช้ Flash ได้ จึงต้องอาศัยการตั้งค่า
ของกล้อง และการปรับแต่งใน Lightroom (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่อง Post Production)
เทคนิคเพิ่มเติม: รอเย็นหรือค่ำหลังพระสงฆ์ทำวัตรเย็น ที่สภาพแสงภายนอกอ่อนลงใกล้กับภายในมากขึ้น
พระพุทธสิหิงค์ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ระวังเรื่องการวัดแสงของกล้อง หลีกเลี่ยงการวัดแสงอัตโนมัติทุกระบบรวมถึง auto ISO ที่มักจะวัดแสงเฉลี่ยเอาสีของวัสดุมาคำนวณด้วย (ไม่ว่าจะเลือก mode วัดแสงแบบไหนก็ตาม) ทำให้ภาพโดยรวม over ควรใช้วิธีลองถ่ายแล้วเช็คที่หลังกล้อง โดยดูให้ส่วนสว่างที่สุดพอดี (ส่วนอื่น under ไม่เป็นไร) แล้วค่อยมาปรับเอาใน LightRoom
พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (บน) หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร | วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร | พระเสริม  และพระแสน พระวิหาร วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร
ค่า white balance อย่าใช้ auto ให้ปรับไว้ที่ค่าใดค่าหนึ่งตลอด เช่น Day Light เพื่อตอนที่ปรับแก้ใน LightRoom จะง่ายขึ้น เนื่องจากกล้องมักถูกหลอกด้วยสีทองที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในสถาปัตยกรรมไทย (Nikon)
พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร* | พระพุทธไสยาส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) |พระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
Framing & Composition มุมมอง และองค์ประกอบของภาพ
หลักการการจัดองค์ประกอบภาพถ่ายเหมือนกับการจัดองค์ประกอบงานจิตรกรรม เพราะมีลักษณะมีกรอบภาพ เหมือนกัน เช่น อาคารที่ symmetry เริ่มต้นควรถ่ายให้ตรงสองข้างเท่ากันไว้ก่อน มุมอื่นๆ ถ่ายเพิ่มเติมแล้วแต่จะสร้างสรรค์
พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
ตัวอย่างการจัดองค์ประกอบภาพ การวางภาพให้มีเส้นนำสายตา การเลือกกรอบภาพหรือ foreground การวางตำแหน่งจุดสนใจของภาพ
โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร | พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร | พระแก้วมรกต พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
สำหรับอาคารที่มีทรงสูง เช่น พระปรางค์ หรือเจดีย์ ถ้าไม่มีองค์ประกอบอื่นในภาพ มักจะวางภาพแบบ symmetry ภาพที่ได้จะดูสมดุลย์ สงบนิ่ง
พระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และแม่น้ำเจ้าพระยา
แต่ถ้ามีองค์ประกอบอื่นในภาพด้วย มักจะวางภาพให้อาคารเยื้องไปข้างๆ เล็กน้อย เพื่อให้ส่วนประกอบอื่นได้เล่าเรื่อง ได้เห็นสภาพแวดล้อม
พระวิหารทิศ และพระเจดีย์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร | พระเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร | พระเจดีย์ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
Storytelling บอกเล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่าย
ศึกษาจากภาพถ่ายเก่า หรือที่มีคนถ่ายไว้แล้ว ไม่ใช่เพื่อลอกแต่เพื่อจะได้ไม่พลาดมุมที่ดี และสามารถใช้เปรียบเทียบ ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงได้ มุมนี้น่าจะใกล้เคียงภาพถ่ายฟิล์มกระจกโบราณสมัยรัชกาลที่ ๔
กรุงเทพมหานคร ถ่ายจากพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
หามุมมองจากภายนอก มุมจากอาคารสูง เพื่อให้เห็นอาคารกับสภาพแวดล้อม บอกเล่าเรื่องราว สภาพบ้านเมือง (เพิ่มเติม รูปที่ ๓ เป็นท่าเรือแห่งใหม่ฝั่งตรงข้ามวัดอรุณฯ ที่เป็นจุดที่ตรงศูนย์กลางองค์พระปรางค์พอดี)
ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ถ่ายจาก วัดราชนัดดารามวรวิหาร | โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร และภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร | พระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
หน้าบันของสถาปัตยกรรมไทยมักมีลวดลายที่มีความหมาย หน้าบันที่ซ้อนกัน ๒ ชั้นแบบนี้การถ่ายจากมุมที่ใกล้เกินไปจะถ่ายได้ไม่ครบ ควรถอยออกมาห่างมากๆ ถึงจะเห็นครบทั้งหมด
ปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

การจัดแสงสว่างในพระอุโบสถ หรือพระวิหาร มักเน้นที่พระประธาน ทำให้อาจไม่ทันสังเกตรายละเอียดที่สวยงามอื่นๆ ในรูปที่ ๒ คือตราพระราชลัญจกรของในหลวงรัชกาลที่ ๔ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่อยู่เหนือพระประธาน
พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร

สถาปัตยกรรมไทยยุคประมาณ ๑๐๐ ปีที่แล้ว เริ่มได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก ส่วนหนึ่งคือ มีการประดับประดาที่เพดานด้วยศิลปะแบบตะวันตกผสมกับคติความเชื่อแบบไทย
พระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
การถ่ายตรงๆ crop เฉพาะส่วนที่สำคัญ สามารถเล่าเรื่องสัดส่วน วัสดุ ลวดลาย และองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมของไทยได้ดี
พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร*
รายละเอียดในภาพสามารถบอกช่วงเวลาของภาพได้ เครื่องทรงของพระแก้วมรกตที่ต่างกันบอกถึงช่วงเวลาที่ถ่ายแต่ละรูปว่าเป็นช่วงเดือนไหน (เพิ่มเติม ถ้าไปถูกวันอาจได้เข้าเฝ้าในหลวงที่จะเสด็จมาทำพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงให้พระแก้วมรกต ซึ่งมักจะมีพิธีจนถึงช่วงเย็นถึงค่ำ เป็นโอกาสที่จะได้ถ่ายรูปวัดพระแก้วช่วงค่ำด้วย)
พระแก้วมรกต เครื่องทรงฤดูร้อน ฤดูหนาว และฤดูฝน  พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
การถ่ายเรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ ที่มี background เป็นพระที่นั่งอนันตสมาคม สามารถแสดงถึงที่ตั้ง บอกถึงขนาด และเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ และ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต
Black & White Thai Architecture ภาพสถาปัตยกรรมไทยแบบขาวดำ
ภาพที่มีแค่สีขาว เทา ดำ กลับทำให้มองเห็นชัดเจนขึ้นในเรื่อง รูปร่าง รูปทรง texture วัสดุ แสงเงา
โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร
ภาพขาวดำทำให้เห็นข้อบกพร่องหรือสิ่งที่รบกวนสายตาน้อยลง และทำให้จุดสนใจเด่นขึ้น
พระบรมมหาราชวัง และแม่น้ำเจ้าพระยา
สีแดงของผนังหลังพระพุทธรูปดึงดูดสายตามากเกินไป เมื่อเป็นภาพขาวดำ จะทำให้เห็นรายละเอียดอื่นๆ ในภาพชัดเจนขึ้น
พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
ตัดเรื่องสีของวัสดุที่ดึงดูสายตาออกไป เราจะเห็นแต่ texture และแสงเงา ทำให้ภาพดูเป็นภาพแนวนามธรรมมากขึ้น
พระอุโบสถ และพระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) | ศาลาการเปรียญ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
People & Lifestyle ผู้คน และวิถีชีวิต
การถ่ายให้มีคนในภาพมีความสำคัญ สามารถบอก scale ของอาคารว่าใหญ่โตขนาดไหน บอกถึงลักษณะการใช้งานว่าเป็นอาคารสำหรับใคร มีความสำคัญแค่ไหน ใช้ทำกิจกรรมอะไร เวลาไหน แม้แต่บอกยุคสมัยได้จาก fashion เครื่องแต่งกาย
พระพุทธเทวปฏิมากร พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
พระสงฆ์ถือบาตรเดินกลับจากการบิณฑบาตในช่วงเช้า
พระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
ในการถ่ายอาคารที่มีคนอยู่ด้วยควรระวัง
๑ สิทธิ์ส่วนบุคคล พยายามอย่าให้เห็นว่าเป็นใครอย่างชัดเจน ให้เบลอ ไหว หรือเห็นด้านหลังดีที่สุด
๒ อย่ารบกวนการทำกิจกรรม ใช้เสียงให้น้อยที่สุด ปิดเสียงทุกชนิด (ตั้งเป็น Quiet Mode) รวมถึงปิดไฟช่วยโฟกัส
๓ สังเกตว่ามีป้ายห้ามถ่ายภาพหรือไม่
ข้อสังเกต ภาพที่มีคนอยู่ด้วย ดูจะเหมาะที่จะทำเป็นภาพขาวดำ เพราะคนในภาพจะกลายเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งไม่ใช่จุดสนใจ
โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร | พระสงฆ์ทำวัตรเช้า พระอุโบสถ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร | การแสดงโขนในงานสมโภช ๑๕๐ ปี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
ภาพการแสดงโขนหน้าพระเมรุมาศนี้ถ่ายยากกว่าการถ่ายสถาปัตยกรรมเปล่าๆ ตรงที่ใช้ f มากไม่ได้เพราะจะทำให้ speed ต่ำมากจนผู้แสดงที่มีการเคลื่อนไหวเบลอได้
การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ส่วนหนึ่งของมหรสพสมโภชออกพระเมรุ หน้าพระเมรุมาศ  พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
Post Production ขั้นตอนหลังจากการถ่ายภาพ
LightRoom มี function สำหรับภาพถ่ายสถาปัตยกรรมอย่างครบถ้วน เรียกว่าถ้าถ่ายมาดีพอควร คมชัด แสงค่อนข้างพอดี ข้อผิดพลาดอื่นทั้งหมดสามารถปรับให้ภาพออกมาสมบูรณ์ได้
โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร

การปรับแต่งเบื้องต้นใน Lightroom
๑ สภาพแสง สี white balance
๒ ความคมชัด noise
๓ ปรับแก้ข้อบกพร่องที่เกิดจากเลนส์ (lens correction)
๔ ลบสิ่งที่รบกวนความสนใจในภาพ สองภาพนี้ใช้ Photoshop
โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหารและ ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  | วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ภาพนี้ปรับที่
๑ ปรับแสงตรง hilight และ shadowให้ส่วนที่สว่างๆ ไม่สว่างเกินไป และส่วนที่มืดให้สว่างขึ้นพอจะเห็น detail
๒ ปรับ white balance บริเวณหน้าต่างที่จะมีสีออกฟ้าจากแสงธรรมชาติ
๓ ปรับ upright ให้ระนาบแนวดิ่งได้ฉากกับระนาบพื้น ไม่เป็นมุมเงย
รูป ๑ เป็น RAW ที่ถ่ายโดยวัดแสงพอดีที่พระพุทธรูป เผื่อว่าจะเอามาปรับใน Lightroom รูปที่ ๒ ทำให้เทียบดูว่าการปรับรูปไปจนสุดควาสามารถของ RAW file จะเป็นแบบนี้ รูป ๓ ปรับตามปกติของผม
พระพุทธสิหิงค์ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
การปรับ upright จะเสียพื้นที่ภาพด้านข้าง และด้านบนเสมอ ตอนถ่ายต้องเผื่อให้ีมีพื้นที่ที่จะโดน crop ไว้ด้วย
พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พระบรมมหาราชวัง 
การต่อภาพ panorama จากการ shift เลนส์ ควรจะใช้ Photoshop เพราะให้ผลที่ดีกว่าการใช้ Lightroom
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  พระบรมมหาราชวัง
ชื่อสถานที่ คำอธิบายจาก Google Maps, Wikipedia, Web Site และป้ายข้อมูลของแต่ละสถานที่
รูปวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ส่วนหนึ่งจากงานถ่ายให้คณะทำงานทำหนังสือ ๑๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๖๓ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ราชวรวิหาร
Architectural Photography and Composition ebook by Steven Brooke | How to Photograph Architecture: The Complete Guide article from format.com
More photos: www.aey.me & www.aeyphoto.com Copyright 2021
Hardware: DSLR Camera with Lens from 14-500mm & Tripod
Software: Adobe Lightroom & Photoshop
More photos of architecture please visit https://www.aeyphoto.com and for Photo index please download

You may also like

Back to Top